หลักพิ้นฐานในการออกแบบ : การใช้สีในการออกแบบ


           สี มีบทบาทสำคัญในการออกแบบ สามารถดึงดูดความสนใจของเราไปที่ภาพนั้น สามารถสื่ออารมณ์และความรู้สึก และยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้คำพูดหรือตัวอักษร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสีใดเข้ากันได้ คำตอบก็คือทฤษฎีสีนั้นเอง บรรดานักศิลปินและนักออกแบบได้ศึกษาและใช้ทฤษฎีสีมาหลายศตวรรษซึ่งพวกเราก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน เราเลือกใช้สีเวลาออกแบบงาน เราควรทำความเข้าใจทฤษฎีสีกันสักหน่อย มุมมองที่เรามีในการสื่อสารจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนก่อนอื่นต้องร่วมทบทวนความรู้เดิมกันก่อน

แม่สี (Primary Color)
แม่สี คือ สีที่นำมาผสมกันแล้วทำให้เกิดสีใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสีเดิม
แม่สี มือยู่ 2 ชนิด คือ

  1. แม่สีของแสง เกิดจากการหักเหของแสงผ่านแท่งแก้วปริซึม มี 3 สี คือ สีแดงสีเหลือง และสีน้ำเงิน อยู่ในรูปของแสงรังสี ซึ่งเป็นพลังงานชนิดเดียวที่มีสี คุณสมบัติของแสงสามารถนำมาใช้ ในการถ่ายภาพภาพโทรทัศน์ การจัดแสงสีในการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น
  2. แม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์โดยกระบวนทางเคมี มี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน แม่สีวัตถุธาตุเป็นแม่สีที่นำมาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ในวงการศิลปะ  วงการอุตสาหกรรม ฯลฯ  
ารใช้งานแม่สีวัตถุธาตุ 
เมื่อนำมาผสมกันตามหลักเกณฑ์ จะทำให้เกิด วงจรสี ซึ่งเป็นวงสีธรรมชาติ เกิดจากการผสมกันของแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีหลักที่ใช้งานกันทั่วไป ในวงจรสี จะแสดงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

1. วงจรสี (Color Circle)
 
สีขั้นที่ 1  (Primary Color)  แม่สี  มี 3 สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน
สีขั้นที่ 2  (Secondary Color) สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือ แม่สีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะทำให้เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ 
  • สีแดง ผสมกับ สีเหลือง ได้ สีส้ม
  • สีแดง ผสมกับ สีน้ำเงิน ได้ สีม่วง
  • สีเหลือง ผสมกับ สีน้ำเงิน ได้ สีเขียว

สีขั้นที่ 3 คือ (Intermediate Color) สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่น อีก 6 สี คือ
  • สีแดง ผสมกับ สีส้ม ได้ สีส้มแดง
  • สีแดง ผสมกับ สีม่วง ได้ สีม่วงแดง
  • สีเหลือง ผสมกับ สีเขียว ได้ สีเขียวเหลือง
  • สีน้ำเงิน ผสมกับ สีเขียว ได้ สีเขียวน้ำเงิน
  • สีน้ำเงิน ผสมกับ สีม่วง ได้ สีม่วงน้ำเงิน
  • สีเหลือง ผสมกับ สีส้ม ได้ สีส้มเหลือง
2. สีตรงข้าม หรือ สีตัดกัน หรือ สีคู่ปฏิปักษ์ (Complementary Color)
หมายถึง สีที่อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกันในวงจรสี และมีการตัดกันอย่างเด่นชัดซึ่งจะให้ความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน หากนำมาผสมกันจะได้สีกลาง (เทา) ซึ่งมีทั้งหมด 6 คู่ ได้แก่
  • สีเหลือง ตรงข้ามกับ สีม่วง
  • สีแดง ตรงข้ามกับ สีเขียว
  • สีน้ำเงิน ตรงข้ามกับ สีส้ม
  • สีเขียวเหลือง ตรงข้ามกับ สีม่วงแดง
  • สีส้มแดง ตรงข้ามกับ สีเขียวน้ำเงิน
  • สีม่วงน้ำเงิน ตรงข้ามกับ สีส้มเหลือง
การนำสีตรงข้ามกันมาใช้ร่วมกัน สีตรงข้ามหรือสีปฏิปักษ์ เป็นสีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ในทางปฏิบัติไม่นิยมนำมาใช้ร่วมกัน เพราะจะทำให้แต่ละสีไม่สดใสเท่าที่ควร แต่อาจนำมาใช้ร่วมกันได้โดยกระทำดังนี้
  • พื้นที่ของสีหนึ่งมาก พื้นที่ของสีหนึ่งน้อย
  • ผสมสีอื่น ๆ ลงไปในสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสี
  • ผสมสีตรงข้ามลงไปในทั้งสองสี

3. สีกลาง (Neutral Color)
คือ สีที่เข้าได้กับสีทุกสี สีกลางในวงจรสี มี 2 สี คือ สีน้ำตาล กับ สีเทา
  • สีน้ำตาล เกิดจากสีตรงข้ามกันในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน สีน้ำตาลมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่นแล้วจะทำให้สีนั้น ๆ เข้มขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงค่าสี ถ้าผสมมาก ๆ เข้าก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล 
  • สีเทา เกิดจากสีทุกสี ๆ สีในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนเท่ากัน สีเทา มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ใช้ผสมกับสีอื่น ๆ แล้วจะทำให้ มืด หม่น ใช้ในส่วนที่เป็นเงา ซึ่งมีน้ำหนักอ่อนแก่ในระดับต่าง ๆ ถ้าผสมมาก ๆ เข้าจะกลายเป็นสีเทา


4. โทนของสี หรือวรรณะของสี (Tone of Color)
วรรณะสี คือ ความแตกต่างของสีแต่ละกลุ่ม ในวงจรสีโดยแบ่งตามความรู้สึกด้านอุณหภูมิ จะมีสีร้อน 7 สี และสีเย็น 7 สี ซึ่งแบ่งที่สีม่วงกับสีเหลือง โดยแบ่งออกเป็น 2 วรรณะ คือ
  • สีวรรณะร้อน (Warm Tone) ประกอบด้วย สีเหลือง ส้มเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง และม่วงแดง สีวรรณะร้อนให้ความรู้สึกตื่นตา มีพลัง อบอุ่น สนุกสนาน และดึงดูดความสนใจได้ดี สีร้อนนี้สภาพโดยรวมจะมีความกลมกลืนของสีมาก ในการออกแบบควรมีสีเย็นมาประกอบบ้างทำให้ภาพมีความน่าสนใจมากขึ้น
  • สีวรรณะเย็น (Cool Tone) ประกอบด้วย สีม่วง ม่วงน้ำเงิน น้ำเงิน เขียวน้ำเงิน เขียว และเขียวเหลือง สีวรรณะเย็นให้ความรู้สึกสุภาพ สงบ ลึกลับ เยือกเย็น ในทางจิตวิทยาสีเย็นมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกหดหู่ เศร้า การใช้สีวรรณะเย็นในการออกแบบควรมีสีร้อนแทรกบ้างจะทำให้ผลงานดูน่าสนใจมากขึ้น


5. สีข้างเคียง ( Analogous Color)
สีข้างเคียง หมายถึง สีที่อยู่เคียงข้างกันทั้งซ้ายและขวาในวงจรสี มีความคล้ายคลึงกันหากนำมาจัดอยู่ด้วยกันจะมีความกลมกลืนกัน หากอยู่ห่างกันมากเท่าใดความกลมกลืนก็จะยิ่งน้อยลงความขัดแย้งก็จะมีมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นสี ในวรรณะเดียวกัน (ภาพที่ 6) สีข้างเคียงได้แก่
  • สีแดง - ส้มแดง - ส้ม หรือ ม่วงแดง -แดง - ส้มแดง
  • สีส้มเหลือง - เหลือง - เขียวเหลือง หรือ ส้มแดง - ส้ม - ส้มเหลือง
  • สีเขียว - เขียวน้ำเงิน - น้ำเงิน หรือ เขียวน้ำเงิน - เขียว - เขียวเหลือง
  • สีม่วงน้ำเงิน - ม่วง - ม่วงแดง หรือ ม่วงน้ำเงิน- น้ำเงิน – เขียวน้ำเงิน


เทคนิคการเลือกใช้สี
เพราะการเลือกใช้สีให้สื่อความหมายอาจยากสำหรับการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบให้โดดเด่นจากสิ่งที่เคยมีอยู่ หรือการทำให้สิ่งออกแบบเดิมๆ ได้มีความโดดเด่นจากการใช้สี เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยเลือกการใช้สีให้นักออกแบบหลาย ๆ ท่านได้มีไอเดียใหม่เพิ่มเติมมากขึ้น 

1. Capture Inspiration
เลือกภาพที่มีคู่สีและโทนสีตามที่ต้องการ จากนั้นนำมาดูดค่าสีด้วยโปรแกรมต่างๆ โดยโปรแกรมที่แนะนำคือ PHOTOCOPA ซึ่งเป็น webapp ที่ใช้งานง่าย เท่านี้ก็จะสามารถได้ค่าสีที่ต้องการ และนำไปเป็น Color guide ในงานออกแบบของเราได้


2. ใช้ Color Wheel
เป็นทฤษฎีสีที่ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ
  • ขั้นที่ 1 (Primary) - แม่สี ได้แก่ แดง เหลือง น้ำเงิน
  • ขั้นที่ 2 (Secondary) - คือสีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีที่ผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จึงส่งผลให้เกิด 3 สีใหม่ ได้แก่ ส้ม ม่วง เขียว
  • ขั้นที่ 3 (Tertiary) - สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน และจะได้สีอีก 6 สี คือ ส้มแดง ม่วงแดง เขียว เหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วงน้ำเงิน ส้มเหลือง
จากนั้นจะกลายเป็น Color Theory ซึ่งประกอบด้วย
  • Analogous Colors การเลือกใช้สีที่อยู่ติดกันใน Color Wheel เช่น สีน้ำเงินกับสีม่วง
  • Complementary Colors การเลือกใช้สีที่อยู่ตรงข้ามกันใน Color Wheel เช่น สีส้มกับสีน้ำเงิน
  • Triadic Colors การเลือกสีโดยใช้สามเหลี่ยมด้านเท่ามาทาบลงบน Color Wheel จะได้สีทั้งหมด 3 สี เช่น สีเขียว สีส้มและสีม่วง

3. ออกแบบโดยมีพื้นที่ของการใช้สี
 
เทคนิคการออกแบบโดยใช้อัตราส่วนของพื้นที่สี 60-30-10
60% เป็นสีที่โดดเด่น
30% เป็นสีรอง
10% เป็นสีที่ถูกเน้น
ตัวอย่าง 
สีโดดเด่น : สีดำ
สีรอง : สีเขียว
สีเน้น : สีแดง



4. บันทึกสีที่ชอบ 
เพราะเราอยู่กับงานออกแบบเป็นประจำ การหาแรงบันดาลใจ Inspiration จากที่ต่าง ๆ อาจทำเราอาจเจอสีที่น่ารักหรือสีที่ชอบ เพื่อนำมาเป็นไอเดียในการออกแบบงานภายหลัง และจะเป็นการทำงานที่ง่ายขึ้นหากเรามีสีที่ชอบเป็น Color guide 5. 

5. หา Pantone ไว้ใช้งานสักชุด
สังเกตหรือไม่ว่า ทำไมนักออกแบบบางคนถึงมี Pantone ติดตัว เพราะในบางครั้งการมองสีจากหน้าจออาจไม่ชัดเจนเท่ามองจาก Pantone นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานพิมพ์ที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง ซึ่ง Pantone จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ได้ค่าสีที่แม่นยำ

Pantone หรือ Pantone Matching System (PMS) เป็นมาตรฐานของระบบสี  เพื่อให้มั่นใจว่าการพิมพ์ทุกครั้งจากผู้พิมพ์รายใดก็ตามที่ใช้ระบบ Pantone จะได้สีของสิ่งพิมพ์ออกมาเหมือนกัน 100% ซึ่งคำว่า Pantone นั้น มาจากชื่อบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ อเมริกา ทำธุรกิจเกี่ยวกับสีสำหรับงานพิมพ์ทุกชนิดที่ต้องการความแม่นยำในการกำหนดค่าก่อนพิมพ์ 

Pantone ที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ PANTONE SOLID COLOR หรือเรียกอีกอยางหนึ่งว่า PANTONE SPOT COLOR หรือ สีพิเศษถูกนำมาใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการความเนี้ยบ ความคมชัด ลดโอกาสสีเพี้ยนที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี


6. หาสีธรรมชาติจากรอบตัวของเรา
เพราะบางครั้งแรงบันดาลใจก็มาจากธรรมชาติรอบตัวเรา การผสมสีที่ไม่มีวันสิ้นสุด และสีในธรรมชาติที่มีหลากหลายมากมาย สถานที่แตกต่างนำพาความรู้สึกและให้สีที่แตกต่างกันได้

7. เลือกใช้สีแค่ 2-3 สี
การใช้สีที่เยอะเกินไปอาจทำให้งานของเราดูแย่ลง วิธีส่วนใหญ่ที่คนใช้กันคือ การเลือกสี 2-3 สีในการออกแบบนั้นๆ ซึ่งสามารถใช้ Color Wheel เพื่อเลือกสี ซึ่งจะทำให้งานนั้นดูดีและมิติไม่เรียบจนเกินไป
 

8. เลือกสีหลัก แล้วหาสีเข้าคู่
เริ่มจากพิจารณาก่อนว่างานออกแบบของเรานั้นเป็นงานอะไร เพราะในแต่ละงานนั้นมีการเลือกใช้สีและให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน เช่น อยากให้อารมณ์งานออกมาอ่อนนุ่มหรือรุนแรง แล้วลองใส่รายละเอียดเข้าไปอีกนิด เช่น ฉันต้องการความโรแมนติกสีม่วง หรือ ฉันต้องการสีชมพูน่ารัก
 

9. Pinterest
แหล่งรวบรวมผลงานและไอเดียที่หลากหลาย สามารถค้นหาได้ตามที่ต้องการ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่ง Inspiration ชั้นดี สำหรับนักออกแบบทั้งหลายอีกด้วย


10. หาความลงตัว
สิ่งสุดท้ายที่เราแนะนำสำหรับนักออกแบบคือการหาสีที่ลงตัวสำหรับงาน โทนสีที่ใช้ควรจะเป็นโทนเดียวกัน ถ้าคุณออกแบบงานที่มีโทนเข้มก็ลองปรับค่าสีให้ดูมีความเข้มให้ลงตัวกัน เพียงเท่านี้งานออกแบบของคุณจะออกมาลงตัว ไม่มีจุดไหนที่โดดเด่นหรือแปลกแยกมากจนเกินไป ในการหาโทนสีที่ลงตัวคุณก็ไม่จำเป็นจะต้องคิดเองทั้งหมด ลองหาตัวอย่างสีใน Pinterest เพื่อดูงานต่างๆ โดยเฉพาะ Palettes ที่มีนักออกแบบทำออกมาให้เราศึกษา


เรียบเรียง :
นายสราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

ภาพประกอบ :
Jason de Graaf : www.canva.com
www.columbiaomnistudio.com
Talitha Pera : www.arquitecturasimple.com

อ้างอิง :
Sukanya.d. (2561, 02 มีนาคม). การเลือกใช้สี เพิ่มความโดดเด่นในงานออกแบบ. สืบค้นจาก
https://www.wynnsoftstudio.com/Choosing_Colors_to_Enhance_Design