โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานลดลง อัตราการเผาผลาญอาหารลดลงตามอายุที่มากขี้น ทำให้ความต้องการพลังงานลดลง พลังงานที่ผู้สูงอายุควรได้รับอย่างเพียงพอคือ วันละ 1,500 - 2,000 กิโลแคลอรี การรับประทานอาหาร ควรจะได้ให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย เลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณพลังงานน้อยลง และนอกจากการลดปริมาณไขมัน และคาร์โบไฮเดรตแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้พลังงานลดลงได้อีกด้วย

ความต้องการสารอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
ลักษณะอาหารสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารให้พลังงานพอเหมาะ แต่มีสารอาหารสูง รสชาติ ไม่รสจัดมาก อ่อนนุ่มเคี้ยวกลืนได้ง่าย ย่อยได้ง่าย นอกจากนี้ต้องมีสุขอนามัยที่ดี

ภาพโดย: katemangostar จาก https://www.freepik.com/photos/food

1. คาร์โบไฮเดรต
ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน สารอาหารหมู่นี้เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรมากเกินไป ควรเลือกเลือกข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 50% ของปริมาณข้าวแป้งทั้งวัน


ภาพโดย azerbaijan_stockers จาก https://www.freepik.com/photos/food

2. โปรตีน
ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง เนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุควรรับประทานคือ เนื้อสัตว์ที่ไม่มีหนังหรือไขมันมากเกินไป ควรรับประทานประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ

ภาพโดย timolina จาก https://www.freepik.com/photos/food
  • เนื้อสัตว์ ตามปกติผู้สูงอายุบริโภคเนื้อสัตว์ประมาณ วันละ 120-160 กรัม (น้ำหนักขณะดิบ) ปริมาณนี้จะลดลงได้ถ้ามีการบริโภค ไข่ ถั่ว หรือนม เลือกเนื้อสัตว์ที่มีความอ่อนนุ่ม เคี้ยวและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หากเป็นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียวให้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ อาจใช้วิธีบดหรือสับ
ภาพโดย Racool_studio จาก https://www.freepik.com/photos/food
  • ไข่ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ไข่แดง มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ปกติสามารถรับประทานได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง แต่ถ้าผู้สูงอายุที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง ควรลดจำนวนลงหรือบริโภคเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น
  • นมควรเลือกนมพร่องมันเนย/นมขาดมันเนย หากมีอาการท้องเสีย อาจรับประทานโยเกิร์ตแทน
  • ถั่วเมล็ดแห้งควรเลือกถั่วหลากหลายสี หากต้มถั่วควรใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ ให้ถั่วมีลักษณะ ที่อ่อนนิ่ม เคี้ยวกลืนง่าย
3. ไขมันและน้ำมัน
อาหารหมู่นี้นอกจากจะให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยดูดซึมวิตามินเอ ดี และเค ผู้สูงอายุต้องการไขมันในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ และถ้าบริโภคไขมันมากเกินไป จะทำให้อ้วนไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการท้องอืดท้อง ท้องเฟ้อ หลังอาหารได้ ควรใช้น้ำมันพืชที่มี กรดไลโนเลอิกปรุงอาหาร เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์


ภาพโดย: freepik จาก https://www.freepik.com/photos/beauty

4. วิตามิน และเกลือแร่
วิตามินที่ผู้สูงอายุมักได้รับไม่เพียงพอได้แก่ วิตามีนบี1 บี2 บี6 บี12 ซี และดี ดังนั้นในแต่ละวันผู้สูงอายุควรรับประทานผัก และผลไม้ให้เพียงพอ ส่วนเกลือแร่ที่ผู้สูงอายุต้องการได้แก่ ธาตุเหล็ก ซึ่งพบมากในตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง ฯลฯและเพื่อให้การดูดซึมดีขึ้น ควรรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วยนอกจากนี้ยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม เป็นเกลือแร่ที่ร่างกายของผู้สูงอายุ ต้องการเพื่อลดปัญหาจากโรคกระดูกเปราะ ซึ่งพบมากใน นม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้งผักใบเขียวเข้ม รวมไปถึง สังกะสี เกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายหลายระบบโดยเฉพาะผิวหนังซึ่งมีมากในอาหารทะเล ปลา เป็นต้น

ภาพโดย freepik จาก https://www.freepik.com/photos/food

5. น้ำ ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำสะอาดหรือเลือกดื่มน้ำสมุนไพรไม่หวานจัดสลับกับน้ำเปล่าอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว น้ำช่วยนำสารอาหารต่าง ๆ ไปยังอวัยวะภายในร่างกายและช่วยขับถ่ายของเสีย ทำให้รู้สึก สดชื่น ป้องกันอาการท้องผูก ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ควรดื่มน้ำก่อนที่รู้สึกกระหาย ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน

ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ
ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของผู้สูงอายุที่ลดลง เช่น ฟัน กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้ไม่อยากอาหาร จึงได้รับสารอาหาร ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องประเมินภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุเป็นระยะ กรณีที่แพทย์พิจารณาให้อาหารทางการแพทย์แก่ผู้สูงอายุ บางสูต รอาจมีการดัดแปลงสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละสภาวะของโรค ก่อนที่จะเริ่มใช้อาหารทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อกำหนดปริมาณการใช้อาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของร่างกาย

ภาพโดย freepik จาก https://www.freepik.com/photos/food

การรักษาภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ
การป้องกันและรักษาภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดย
  1. ซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุ และแก้ไขไปตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น การให้ยาต้านเศร้าในกรณีเป็นโรคซึมเศร้า การรักษาช่องปากจัดหาฟันเทียมเพื่อช่วยการบดเคี้ยวอาหาร การพิจารณาหยุดยาที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร การให้ความรู้ ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง แนะนำปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว
  2. การให้อาหารเสริมสูตรสำเร็จรูปทางการแพทย์ เนื่องจากมีสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่านมทั่วไป ปัจจุบันมีทั้งชนิดน้ำและชนิดผงนำมาผสมน้ำ และแยกสูตรตามโรคของผู้ป่วย เช่น สูตรปกติ สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเองหรือให้ ทางสายสวนกระเพาะอาหารในกรณีไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง ผลการศึกษาการให้อาหารเสริมสูตรสำเร็จรูปทางการแพทย์ในผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากความเจ็บป่วยเฉียบพลัน พบว่า ให้ผลดีในด้านการป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวลดลง ทำให้กล้ามเนื้อมีกำลังบีบตัวเพิ่มขึ้น (Hand – Grip Strength) และทำให้รับประทานอาหารปกติได้เพิ่มขึ้นด้วย

เรียบเรียง:
ประทุม โพธิ์งาม  ครูชำนาญการพิเศษ
กลุ่มวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

อ้างอิง:
ลิลลี่ ชัยสมพงษ์. (2560, 29 ธันวาคม). 12 สารอาหารที่ผู้สูงอายุไม่ควรขาด. สืบค้นจาก https://www.modernformhealthcare.co.th/post/12-saar-aahaarthiiphuusuung-aayuaimkhwrkhaad

สุพรรณิการ์ เจริญ. (2562, 13 ตุลาคม). ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ. สืบค้นจาก https://www.vichaiyut.com/th/health/diseases-treatment/other-diseases/malnutrition-elder

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2560, 4 ตุลาคม). อาหารสำหรับผู้สูงวัย. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/Content/39012-อาหารสำหรับผู้สูงวัย.html

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.. (2562, 18 กันยายน 2563). โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/Content/50108-โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย.html

โรงพยาบาลกรุงเทพ. อย่ามองข้ามภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัย. สืบค้น 27 สิงหาคม 2563, จาก https://www.bangkokhospital.com/content/malnutrition-in-older-adults

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. โภชนาการในผู้สูงวัย. สืบค้น 27 สิงหาคม 2563, จาก https://www.bumrungrad.com/th/medical-clinics-bangkok-thailand/geriatric/services/nutrition