การเขียนบทความทางวิชาการ

บทความ (article) หมายถึง ความเรียงให้สาระความรู้เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเขียนขึ้นจากหลักฐานและข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นและช้อเสนอแนะของผู้เรียนประกอบเข้าไปด้วย ซึ่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวอาจจะเสนอในเชิงสร้างสรรค์หรือในเชิงวิจารณ์ นอกจากนี้เนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องที่ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งกำลังเป็นที่น่าสนใจของผู้อ่าน หรืออาจจะเป็นเนื้อเรื่องที่ผู้เขียนต้องการการกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจก็ได้

สำหรับบทความทางวิชาการจะให้ข้อมูลความรู้ในด้านใดด้านหนึ่งและผู้เขียนแสดงความคิดเห็น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดทางวิชาการ ความก้าวหน้าทางวิชาการ และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ ลักษณะการเขียนจะเป็นทางการ ใช้คำและภาษาที่เป็นภาษาเขียนที่ถูกต้อง เนื้อหาจะเป็นประเด็นวิชาการที่กำลังเป็นที่สนใจหรือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้

ภาพโดย pch.vector จาก freepik.com

ลักษณะการเขียนบทความทางวิชาการ
การเขียนบทความทางวิชาการอาจจะเขียนได้ในหลายลักษณะ ดังนี้
  1. การบรรยาย เป็นการเล่าประสบการณ์ด้านวิชาการที่ผู้เขียนประสบมา ให้แง่คิดและข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เช่น ประสบการณ์จากการศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการศึกษา
  2. การให้ความรู้ เป็นการอธิบายเรื่องทางวิชากการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการอ้างอิงหลักฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งให้แนวคิดในการนำไปประยุกต์ใช้ เช่น การใช้สมุนไพรไทยรักษาโรคมะเร็ง สรรพคุณของสมุนไพรไทย เป็นต้น
  3. การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหา เป็นการนำเอาปัญหามาพิจารณาแยกและเสนอแนะแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหา หรืออาจเสนอแนวทางแก้ปัญหาหลาย ๆ แนวทาง เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินและเลือกเอง เช่น ปัญหาราคาน้ำมันสูง ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพต่ำ ปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ เป็นต้น
  4. การวิเคราะห์ เป็นการแยกแยะประเด็นที่ปรากฏและขยายสาระอย่างมีเหตุผล โดยยกข้อเท็จจริงและหลักฐานมาประกอบให้น่าเชื่อถือ พร้อมทั้งจบการเขียนด้วยการทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อเนื่อง เช่น การวิเคราะห์ความเหมาะสมของการเปิดเผยคะแนนสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา เป็นต้น
  5. การวิจารณ์ เป็นการเสนอความคิดเห็นในแง่มุมของผู้เขียนต่อประเด็นที่นำมาวิจารณ์ โดยอิงกับหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เช่น การวิจารณ์งานศิลปะ การวิจารณ์ประเด็นทางการเมือง การวิจารณ์วรรณกรรม เป็นต้น
  6. การรายงานจากการสัมภาษณ์ เป็นการเสนอข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสัมภาษณ์แล้วเรียบเรียงเขียนในรูปชองบทความ และต้องมีจุดเน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น บทความการสัมภาษณ์รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น
  7. การรายงานผลการศึกษาค้นคว้าหรือการวิจัย เป็นการสรุปผลการศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยที่ผู้เขียนได้ดำเนินการด้วยตนเอง หรือผู้อื่นดำเนินการ และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อันควรจะเผยแพร่ แล้วนำมารายงานในรูปของบทความ
  8. การแสดงข้อโต้แย้ง เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นโต้แย้งต่อความคิดเห็นของผู้อื่น การตัดสินใจหรือวิธีแก้ปัญหาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงข้อเท็จจริง เหตุผลและพยานหลักฐานอ้างอิงได้ชัดเจน เช่น การแสดงข้อโต้แย้งต่อเกณฑ์วิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ เป็นต้น
  9. การแสดงความคิดริเริ่ม เป็นการเขียนเพื่อเผยแพร่ความคิดใหม่ที่ผู้เขียนคิดสร้างสรรค์ขึ้นเองไม่เคยมีใครคิดมาก่อน และผู้เขียนเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีข้อเท็จจริงและหลักฐานยืนยันได้อย่างน่าเชื่อถือ หรือมีการทดลองและตรวจสอบแล้วว่านำไปใช้ได้
ภาพโดย ontsunan จาก freepik.com

ส่วนประกอบของบทความทางวิชาการ
ในการเขียนบทความทางวิชาการต้องมีส่วนประกอบเฉพาะเช่นเดียวกับงานเขียนประเภทอื่น ๆ ส่วนประกอบของบทความทางวิชาการ มีดังนี้
  1. ชื่อเรื่อง การตั้งชื่อเรื่องควรคำนึงถึงหลักต่อไปนี้
    • อ่านแล้วเข้าใจ
    • เป็นภาษาไทยที่กระชับ
    • บ่งบอกถึงเนื้อหาสาระของบทความได้ครอบคลุม
  2. ส่วนนำ เป็นส่วนที่กล่าวนำให้ผู้อ่านเข้าถึงประเด็นหลักของเรื่องและดึงดูดความสนใจของผู้อื่น ซึ่งอาจจะประกอบด้วย
    • ความเป็นมาของเรื่อง
    • ความสำคัญของเรื่อง
    • คำนิยามของคำที่เป็นจุดเน้นของเรื่อง
    • จุดมุ่งหมายและขอบเขตเนื้อหาสาระ
  3. ส่วนเนื้อเรื่อง ผู้เขียนต้องศึกษาเนื้อหาความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องและเชื่อถือได้สำหรับนำเสนอในส่วนเนื้อเรื่อง โดยใช้ทั้งการเรียบเรียงใหม่และการนำเสนอข้อมูลตรงตามต้นฉบับเดิมมาอ้างอิงประกอบตามวิธีการอ้างอิงที่ถูกหลักเกณฑ์ พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนหรือวิเคราะห์วิจารณ์ ให้แนวทางการนำไปประยุกต์ใช้
  4. ส่วนสรุป เป็นส่วนท้ายของบทความที่ผู้เขียนย้ำประเด็นหลักของเรื่อง กล่าวถึงผลที่ได้รับจากการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือปฏิบัติ หรือให้ข้อเสนอแนะ ในส่วนนี้ผู้เขียนจะต้องเขียนทิ้งความประทับใจไว้ให้ผู้อ่าน หรือทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อ
  5. ส่วนรายการอ้างอิง ประกอบด้วยรายการเอกสารและหนังสือที่ผู้เขียนใช้ค้นคว้าประกอบการเขียนและใช้อ้างอิงในเนื้อเรื่อง
ภาพโดย rawpixel.com จาก freepik.com

ขั้นตอนการเขียนบทความทางวิชาการ
ในการเขียนบทความทางวิชาการ ต้องมีการดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ดังนี้
  1. เลือกเรื่อง โดยคำนึงถึงหลักต่อไปนี้
    • เรื่องที่ไม่กว้างเกินไปและไม่แคบเกินไป
    • เรื่องที่น่าสนใจ อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป
    • เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงหรือโต้แย้งกันอยู่
    • เรื่องที่แปลกใหม่
    • เรื่องที่มีเนื้อหาสาระและข้อมูลที่เชื่อถือได้และพอเพียง
    • เรื่องที่ผู้เขียนรู้จริง
    • เรื่องที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจจะให้อ่านหรือให้ความรู้ในเรื่องที่เขียน
  2. ตั้งชื่อเรื่องตามหลักที่ได้กล่าวไว้แล้ว และควรจะตั้งชื่อเรื่องก่อนลงมือเขียน เพื่อช่วยกำหนดขอบเขตในการเขียน เมื่อเขียนจบแล้วผู้เขียนอาจจะปรับชื่อเรื่องให้เหมาะสมได้อีกครั้ง
  3. ศึกษาข้อมูลจากหนังสือ เอกสาร และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ จดบันทึกแหล่งที่มาของข้อมูลไว้ให้ครบถ้วน ยกเว้นแต่การเขียนบทความทางวิชาการในลักษณะที่ผู้เขียนริเริ่มสร้างสรรค์ในเรื่องนั้นด้วยตนเองทั้งหมด อาจไม่ต้องรวบรวมข้อมูลจากที่อื่น
  4. กำหนดโครงเรื่องของบทความแต่ละส่วน ส่วนนำจะนำด้วยการกล่าวถึงอะไร ส่วนเนื้อเรื่องจะประกอบด้วยหัวข้อเนื้อหาอะไรบ้าง จะมีข้อคิดหรือข้อเสนอแนะในประเด็นใดบ้าง ส่วนสรุปอย่างไรให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจหรือจะทิ้งประเด็นใดไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อ
  5. เขียนบทความทั้งเรื่องตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้ ใช้คำ ประโยค วรรคตอน การย่อหน้าและสำนวนโวหารที่ถูกต้อง ใช้ภาษาที่เร้าใจผู้อ่าน อ้างอิงข้อมูลอย่างถูกต้อง เนื้อเรื่องมีเอกภาพ
  6. อ่านทบทวนบทความที่เขียนเสร็จแล้ว แก้ไขปรับปรุงทั้งเนื้อหาสาระ การใช้ภาษา และการอ้างอิงในเนื้อหา
  7. ขียนรายการเอกสารอ้างอิงหรือบรรณานุกรมตามวิธีเขียนที่ถูกต้อง
ภาพโดย pch.vector จาก freepik.com

ลักษณะของบทความทางวิชาการที่ดี
ในการเขียนบทความทางวิชาการ ควรคำนึงถึงลักษณะของบทความทางวิชาการที่ดีดังต่อไปนี้
  1. มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดในการที่จะเสนอเรื่องนั้น ๆ
  2. เนื้อเรื่องมีความเป็นเอกภาพและลำดับเรื่องให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงตามวัตถุประสงค์
  3. มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องที่เขียนมาเป็นอย่างดี มีหลักฐานข้อเท็จจริงและให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ ข้อมูลถูกต้องตามหลักวิชาการ ถ้าเป็นงานริเริ่มจะต้องผ่านการทดลองและตรวจสอบจนมั่นใจว่าถูกต้องและใช้ได้จริงแล้วจึงนำเสนอ
  4. เรื่องที่เสนอในบทความมีประโยชน์ต่อบุคคลในแวดวงวิชากการและบุคคลทั่วไป แสดงถึงภูมิรู้ของผู้เขียน
  5. เนื้อหาในบทความช่วยยกระดับจิตใจของผู้อ่าน ไม่ยั่วยุให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม
  6. เสนอข้อคิดเห็นด้วยความ เที่ยงตรง เที่ยงธรรม และจริงใจ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนหรือของฝ่านใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะและไม่หวังเพียงผลประโยชน์ตอบแทน
  7. ขนาดความยาวกะทัดรัดอยู่ในชอบเขตของวัตถุประสงค์
  8. ใช้ภาษาไทยที่เรียบง่าย เป็นภาษาไทยที่ดีถูกต้องตามหลักภาษา มีความสละสลวย เร้าใจให้น่าอ่านและน่าเชื่อถือ ศัพท์วิชากการที่ใช้ต้องมีการอธิบายหรือขยายความให้ผู้อ่านเข้าใจ

เรียบเรียง :
นางอรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญพิเศษ กลุ่มวิชาการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง 

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และนิรมล ศตวุฒิ. (2546). การเขียนเอกสารวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. 
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.