Coding คืออะไร

 

• Coding คืออะไร •

โค้ดดิ้ง (Coding) คือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย “โค้ดดิ้ง (Code)” เพื่อให้โปรแกรมทำตามคำสั่ง อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำตามที่เราต้องการ ด้วยการใช้ภาษาของคอมพิวเตอร์ และเรียก โค้ดที่ได้ว่า “Source Code” และเมื่อทำการโค้ดดิ้งเเล้ว ก็จะนำโค้ดที่ได้ไปทดสอบและประมวลผล เพื่อดูว่าโปรแกรมที่ได้จากการโค้ดดิ้งนี้เป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ ก่อนจะนำโปรแกรมที่เรียบร้อยแล้วไปประยุกต์ใช้งานต่อไป

ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการ Coding มีหลายภาษาแตกต่างกันไป เช่น C++ PHP Java และ Python แต่ละภาษาก็มีความเฉพาะเจาะจงในการใช้งานต่างกันออกไป เช่น ภาษา Objective C มันจะถูกนำไปใช้สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันในตระกูล iOS เช่น iPhone iPad หรือภาษา Java ที่นิยมใช้พัฒนาแอปพลิเคชันในฝั่งแอนดรอยด์ ซึ่งไม่ว่าจะใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ใดแต่พื้นฐานของการโค้ดดิ้งก็มีหลักการคล้ายกัน คือ การแบ่งปัญหาออกเป็นส่วน ๆ คิดอย่างมีเหตุผล และพัฒนาไปทีละขั้นตอน

• เรียน Coding ได้อะไร  •

โค้ดดิ้ง เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือ สามารถแตกปัญหาออกเป็นส่วน ๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขไปทีละส่วน และในแต่ละขั้นตอนของการเขียนโค้ด จะทำให้ได้เรียนรู้ระบบการวางแผนไปในตัว ฝึกฝนกระบวนการคิดและการลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของการเรียน Coding
เรียนรู้การจัดการกับปัญหา 
ฝึกการวิเคราะห์ปัญหา
ช่วยให้คิดเป็นระบบ 
เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง
มีความคิดสร้างสรรค์ 
มีทักษะคิดเชิงคำนวณ
รู้เท่าทันเทคโนโลยี 
มีไหวพริบที่ดีขึ้น

• วิชา Coding ในไทย •

เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding จึงเป็นภาษาที่ 3 ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล และในด้านการศึกษาก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุคดิจิทัล รองรับตลาดแรงงานที่ต้องการอาชีพด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น และรองรับอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่ และหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษาก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ผ่านระบบดิทัล พร้อมปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม การเขียนโปรแกรม (ภาษาคอมพิวเตอร์) คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา

วิชาโค้ดดิ้งที่เด็กไทยได้เรียน คือวิชา วิทยาการคำนวน อยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) จากเดิมที่เด็กไทยได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ในฐานะผู้ใช้ แต่ในการเรียนวิชา Coding เด็ก ๆ จะได้เรียนเป็นทั้งผู้เขียน ผู้พัฒนา พร้อมทั้งได้ฝึกหัดคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เสนอหลักสูตร วิทยาการคำนวณ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศใช้ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี 2561 โดยมุ่งให้เด็กมีความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านไอซีทีในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าได้อย่างสร้างสรรค์


องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณ 
โครงสร้างหลักสูตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก
  1. วิทยาการคอมพิวเตอร์ หลักการหรือจุดเน้นที่สำคัญของวิชานี้ คือ กระบวนการคิด เป็นการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการคิดแบบต่าง ๆ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน ตามหลักการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการเขียนโปรแกรม ในส่วนนี้ก็จะมีการเขียนโปรแกรมในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เช่น การเรียงบัตรคำสั่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือการใช้โปรแกรม Scratch เพื่อต่อจิ๊กซอว์คำสั่ง 
  2. ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และทำการตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลได้ โดยแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น โดรน หุ่นยนต์ โลกความจริงเสมือน สมาร์ตซิตี้ สมาร์ตฟาร์ม และการใช้เครื่องมือทางไอซีทีต่าง ๆ เพื่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น การใช้โปรแกรมนำเสนอ เพื่อสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ 
  3. การเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) จะทำความรู้จักกับโลกออนไลน์ โซเซียลมีเดียและผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวลวง การแชร์ข้อมูลผิดๆ หรือก่อความเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และอาชญากรรมทางดิจิทัลอีกด้วย ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคนี้เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันโลกออนไลน์และเข้าใจถึงผลกระทบของการกระทำใด ๆ ของตนและบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์ เป็นรากฐานในการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเรียนวิชานี้ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้เด็กไปเป็นโปรแกรมเมอร์กันหมด ทักษะส่วนหนึ่งของวิชานี้ ทั้งในส่วนของทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และ ICT ก็เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยตรง และในส่วนของการคิดเชิงคำนวน Computational Thinking ที่มีเรื่องของโค้ดดิ้งด้วย ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เอาไปใช้โดยตรง แต่ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และทักษะการคิดเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในเนื้อหาด้านนี้ก็มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
ในอนาคตอันใกล้ Coding จะไม่ใช่แค่ทางเลือกของผู้สนใจเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ได้เข้าไปอยู่ในองค์ประกอบต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต และสร้างธุรกิจในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานของความเข้าใจกระบวนการคิด และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอื่น ๆ ทั้งความเข้าใจทั้งด้านหุ่นยนต์ IoT Machine Learning หรือปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต


เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
(2561, 6 กุภาพันธุ์). วิทยาการคำนวณ วิชาใหม่ของนักเรียนไทย เรียนตอนเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2561. สืบค้นจาก https://campus.campus-star.com/education/62881.html
 
(2562, 2 สิงหาคม). เรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ภาษาที่ 3 - ทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล. สืบค้นจาก https://campus.campus-star.com/education/125637.html

Lalimay. (2562, 15 มีนาคม). ทำความรู้จักกับ Coding วิชาแห่งโลกอนาคต. สืบค้นจาก https://www.parentsone.com/what-is-coding/