ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ที่มีผลกระทบจากความผิดหวัง ความสูญเสีย หรือการถวิลหาสิ่งที่ขาดหายไป เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่มีความสุข จิตใจหม่นหมอง หดหู่หงอยเหงา หมดความกระตือรือล้น เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ รอบตัว มองโลกในแง่ร้าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ ตามลำพัง ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตนเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น อาจมีอาการทางกาย เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินปกติ อ่อนเพลียไม่สดชื่นไม่สนใจดูแลตนเอง ไม่มีสมาธิ ชอบพูดเรื่องเศร้า เบื่ออาหาร บางรายมีอารมณ์เศร้ามากๆ อาจมีความคิดทำร้ายตนเองได้ บางรายแสดงออกด้วยการหงุดหงิดโมโหง่าย ทะเลาะกับบุตรหลานบ่อยครั้ง เอาแต่ใจตนเองน้อยใจง่าย


สาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งสาเหตุทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคม ได้แด่
  1. สาเหตุทางด้านร่างกาย ที่พบบ่อย ได้แก่ พันธุกรรมหรือการมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าในครอบครัว ความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางตัวในสมอง การมีพยาธิในสมอง เช่น มีการเสื่อมของเซลล์ประสาท หรือมีการฝ่อของสมองบางส่วน หรือเป็นโรคทางกายภาพที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคต่อมธัยรอยด์ ฯลฯ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาที่กินประจำ 92 ชุดความรู้การดูแลตนเองและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุเช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษาโรคมะเร็ง
  2. สาเหตุทางด้านจิตใจ ที่พบบ่อย ได้แก่ การไม่สามารถปรับตัวต่อการสูญเสีย เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ หรือมีความเครียดในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ โดยสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คู่ชีวิต ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท การสูญเสียหน้าที่การงาน บทบาทในครอบครัวการย้ายที่อยู่ ความเจ็บป่วยทางกาย ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ลูกหลานไม่ปรองดองกัน ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกหลาน รวมทั้งการมีบุคลิกภาพดั้งเดิมเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองในด้านลบบ่อยๆ หรือชอบพึ่งพาผู้อื่น
  3. สาเหตุทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ที่พบบ่อย ได้แก่ การปรับตัวไม่ได้ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การประสบความเครียดจากการดำเนินชีวิตประจำวันการทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัวเป็นต้น
การหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันหรือรับมือกับสาเหตุของภาวะซึมเศร้า ดังนี้

การดูแลตนเองทางด้านร่างกาย
  • กินอาหารที่เหมาะสมกับวัยให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณพอเหมาะและหลากหลาย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำโดยเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสมกับสุขภาพ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายจะได้รีบรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรง
การดูแลตนเองทางด้านจิตใจ
  • สร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ด้วยการมีความคิดดี พูดดี และทำดีจะช่วยทำให้มีความสุข จิตใจแจ่มใสไม่ขุ่นมัว อารมณ์ดี
  • ตระหนักในคุณค่าของตนเองที่มีต่อลูกหลาน และบุคคลอื่น ชื่นชมและภาคภูมิใจในตนเอง อย่ามองตนเองว่าไร้ค่า หรือรู้สึกท้อแท้
  • ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย
  • ไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ว่าง หางานอดิเรกหรือสิ่งที่ตนสนใจ อยากทำแต่ไม่มีโอกาสทำเมื่ออยู่ในช่วงวัยที่ต้องทำงาน
  • ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสมำเสมอ เช่น ทำอาหารให้บุตรหลาน ไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ไปทำบุญที่วัด ดูโทรทัศน์ หรือออกกำลังกายร่วมกัน เป็นต้น 
  • สร้างคุณค่าเพิ่ม ให้กับตนเองด้วยการอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม
  • แสวงหาความสงบสุขทางใจ ด้วยการฝึกทำสมาธิ สวดมนต์ ศึกษาธรรมะจากหนังสือ หรือสนทนาธรรมกับผู้รู้ จะช่วยให้จิตใจให้สงบเข้าใจธรรมชาติหรือความเป็นจริงของชีวิต ไม่ฟุ้งซ่าน ปล่อยวางปัญหาต่างๆ
  • อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด เชน่ สูดอากาศบริสุทธิ์จากป่าเขาลำเนาไพร สัมผัสสายลมและแสงแดดบ้าง เพื่อผ่อนคลายจิตใจ
  • ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวควรหาสัตว์เลี้ยงไว้รับผิดชอบดูแลเพื่อให้ความรักและสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น
การดูแลตนเองทางด้านสังคม
การเข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น เช่น การสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยให้มีเพื่อนใหม่ๆได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย คลายความอ้างว้าง

ภาพถ่าย : การจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุของ กศน.อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า
  1. หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวเมื่อมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้น พูดคุยกับคนอื่นเพื่อผ่อนคลายความเครียดและเกิดความเพลิดเพลิน ไม่เงียบเหงา
  2. ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
  3. ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ ไปวัด หรือออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น
  4. รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาโดยไม่ต้องอาย เนื่องจากโรคนี้ถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้ดีขึ้น และหายขาดได้

อ้างอิง :
สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2556). ชุดความรู้การดูแลตนเองและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพ. กรุงเทพมหานคร : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.