วิธีสอนเด็กที่ถนัดใช้สมองซีกขวา

สมองจะแบ่งออกเป็นสองซีก ซึ่งการที่สมองจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพจะต้องพัฒนาสมองซีกซ้าย สมองซีกขวาไปพร้อมๆ กัน โดยที่สมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวา และสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย


สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่ในเรื่องกระบวรการคิดต่าง ๆ การใช้ภาษา การเขียน การแสดงออกทางด้านการพูด โดยสมองซีกซ้ายจะใช้วัดในเรื่องตรรกะ เหตุผล ในการวัด IQ ของเด็กส่วนมากจะวัดจากสมองซีกซ้าย

ส่วนสมองซีกขวา ทำหน้าที่ในเรื่องพัฒนาการทางด้านศิลปะ การมองภาพเป็นมิติ ความมีสุทรียะด้านดนตรี เสียงเพลง การใช้จินตนาการและความคิดในเชิงศิลปะ รวมไปถึงการใช้ภาษาแสดงออกทางภาษากาย เช่น การแสดงออกทางสีหน้า

การใช้สมองข้างที่ถนัดมีผลกระทบต่อรูปแบบหรือลีลาการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ครูจึงควรจัดกิจกรรมที่สร้างเสริมสมองทั้ง 2 ซีก หากสมองซีกใดไม่ได้รับการดูแล สมองซีกนั้นจะด้อยสมรรถภาพลงไป ดังนั้นควรฝึกให้เด็กตระหนักและใช้ปัญญาด้านที่ตนถนัด จะช่วยในการรับข้อมูลและย่อยข้อมูลได้ง่าย ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ

สำหรับเด็กที่ถนัดใช้สมองซีกซ้ายจะไม่ค่อยประสบปัญหาในการเรียน เนื่องจากหลักสูตรส่วนใหญ่มุ่งเน้นสมองซีกซ้าย (การอ่าน เขียน สัญลักษณ์ ฯลฯ) ในส่วนของเด็กที่ถนัดใช้สมองซีกขวา ครูควรจัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กที่ถนัดใช้สมองซีกขวาเกิดการเรียนรู้ เนื่องจากสมองซีกขวามีระบบการทำงานของประสาทสัมผัสในลักษณะแฮบติค ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการกระตุ้นหากร่างกายมีความเคลื่อนไหว หรือมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เป็นระบบที่รับรู้ข้อมูลทางผิวหนัง โดยอาจทำกิจกรรมดังต่อไปนี้

กิจกรรมสำหรับเด็กถนัดใช้สมองซีกขวา
  1. การให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะที่ช่วยให้สมองทำงานสลับกัน (Cross-lateral pattern) ซึ่งจะช่วยให้สมองทำงานได้สัดส่วนทั้งสองซีก โดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
    1.1 แตะสลับ โดยใช้มือซ้ายแตะเข่าขวาและมือขวาแตะเข่าซ้าย
    1.2 เดินสลับแขน ขา โดยก้าวขาซ้าย แกว่งมือขวา และก้าวขาขวา แกว่งมือซ้าย
    1.3 คลานสลับแขน ขา (Cross-lateral crawl) โดยแขนขวาเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมขาซ้าย และแขนซ้ายเคลื่อนไปพร้อมขาขวา หรืออาจให้เด็กคลานตามตัวอักษร คำ หรือตัวเลขที่เขียนด้วยเทปกาว
    1.4 นอนกลิ้งตัวบนพื้น
    1.5 เดินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Infinity walk : ∞ ) 
  2. ฝึกเขียนในอากาศหรือให้เด็กจับคู่ แล้วสลับกันเขียนบนแผ่นหลังของกันและกัน เด็กควรปิดตาขณะที่เพื่อนเขียนบนแผ่นหลังของตน การปิดตาจะช่วยให้การรับรู้ดีขึ้น
  3. ให้เด็กนั่งเป็นวงกลมแล้วปิดตา ครูเขียน code ใส่ที่ฝ่ามือเด็กคนที่ 1 (อาจเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือคำ) ให้เด็กส่งต่อ โดยเขียน code ที่ได้รับใส่ฝ่ามือเพื่อนคนที่ 2 ซึ่งปิดตาอยู่ ส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคน จนถึงคนสุดท้าย แล้วจึงเฉลย
  4. เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสร้างรูปทรงตัวเลขหรือตัวอักษรต่าง ๆ
  5. เขียนโดยอาศัยประสาทสัมผัสทางมือ โดยใช้วัสดุต่าง ๆ ทำเป็นคำหรือตัวเลข เช่น ข้าวสาร เมล็ดถั่ว เป็นต้น
  6. อ่านโดยใช้นิ้วลากบนคำที่ทำจากวัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น ทำบัตรคำจากกระดาษทราย แล้วให้เด็กใช้นิ้วข้างที่ถนัดลากทาบคำเหล่านั้น
  7. ใช้มุ้งลวดตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กว่าบัตรคำเล็กน้อย วางแผ่นมุ้งลวดลงบนบัตรคำ แล้วให้เด็กอ่านด้วยนิ้วมือ โดยเอานิ้วมือลากไปตามคำ การที่ข้อมูลผ่านทางผิวหนังช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น
  8. เรียนโดยใช้ดนตรี จังหวะ การเคลื่อนไหว เพลง ประกอบเนื้อหา เช่น เด็กอาจตบมือ ดีดนิ้ว หรือเคลื่อนตัวพร้อมทั้งบวกเลข หรือสะกดคำไปพร้อม ๆ กัน
  9. ใช้สีหรือรูปภาพช่วยในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กสร้างจินตภาพ (imagery)
  10. ใช้สื่อที่เป็นของจริงให้เด็กได้จับต้อง สัมผัส ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ครูควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสมองทั้ง 2 ซีก ให้มีการทำงานอย่างสมดุล (Whole Brain Approach) และทำงานให้ได้สัดส่วนกัน โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัส ใช้สื่อที่เป็นของจริง อาศัยจินตนาการ ทำนอง และจังหวะประกอบการอ่านและการเขียนหนังสือ ซึ่งหากครูปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ โดยพิจารณาถึงกระบวนการเรียนรู้ ความถนัดของสมอง รูปแบบการคิด จะช่วยให้ครูพบวิธีสอนและการจัดกิจกรรรมการเรียนการสอนที่สนองความต้องการเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาได้จนถึงขีดสุด

เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ 
รสาพร หม้อศรีใจ  ครู ชำนาญการพิเศษส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
อรนุช ลิมตศิริ. (2545). นวัตกรรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

iammelon. (2561). พัฒนาสมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ให้ลูกน้อย. สืบค้น 7 มิถุนายน 2562. จาก https://www.amarinbabyandkids.com/goat-milk/left-right-brain/

เว็บไซต์รักลูก. (มปป.). รู้จักสมองซีกซ้าย ซีกขวาของลูกกัน. สืบค้น 7 มิถุนายน 2562. 
จาก https://1th.me/DYXw