อาหารสำหรับผู้สูงอายุ : กินอย่างไรให้สุขภาพดี...มีความสุข


“อาหาร” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์ ที่จะต้องได้รับให้เพียงพอเพื่อการดำรงชีวิต อาหารก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย คือ เพื่อสร้างความเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ให้พลังงานและความอบอุ่น รวมทั้งช่วยให้ร่างกายดำเนินชีวิตอย่างปกติและปราศจากโรค การเลือกอาหารให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านโภชนาการมากกว่าวัยผู้ใหญ่ทั่วไป

ปัญหาโภชนาการในผู้สูงอายุ  
จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุ เช่น การทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวกับการรับรส กลิ่น และสัมผัสเสื่อมลง ทำให้ความอยากกินอาหารลดลง ความสามารถในการทำงานของระบบทางเดินอาหารลดลง ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารและการดูดซึมไม่สมบูรณ์ การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง ทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้ง่าย การทำงานของต่อมน้ำลายลดลง ปากและลิ้นแห้ง ส่งผลให้เกิดแผลติดเชื้อได้ง่าย การมีนิสัยบริโภคที่ไม่ถูกต้อง การขาดผู้ดูแลจัดหาอาหารที่เหมาะสม ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ครบถ้วน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาโภชนาการในผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งปัญหาการขาดสารอาหารและปัญหาโภชนาการเกิน ดังนี้
  • การมีน้ำหนักตัวน้อย เกิดจากการเสื่อมถอยของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ฐานะทางเศรษฐกิจและปัญหาทางจิตใจ ก็อาจส่งผลให้กินอาหารได้น้อยเช่นเดียวกัน
  • การขาดวิตามิน ผู้สูงอายุมีโอกาสขาดวิตามินเกือบทุกชนิด ที่พบบ่อย คือ วิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคเหน็บชา ขาดวิตามินบี 2 ทำให้เป็นโรคปากนกกระจอก ควรจัดอาหารที่เป็นข้าวซ้อมมือ นม เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว เป็นต้น และขาดวิตามินซี ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และเป็นหวัดได้ง่ายด้วย ควรจัดอาหารที่เป็นผัก และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ให้ผู้สูงอายุกิน

    อาหารวิตามิน B1 สูง : เนื้อหมู ไข่แดง ตับ โยเกิร์ต นม มันฝรั่ง ส้ม มะเขือเทศ ข้าวกล้อง ธัญพืช และถั่วต่าง ๆ
    อาหารวิตามิน B2 สูง : ไข่ นม โยเกิร็ต เครื่องในสัตว์ ตับ ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต
    อาหารวิตามิน C สูง : ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักใบเขียว แคนตาลูป มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ พริกไทย
  • การขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง เนื่องจากกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก หรือกินอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพไม่เพียงพอ ประกอบกับการหลั่งของกรดเกลือน้อยลง ทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กต่ำไปด้วย ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด ความต้านทานโรคน้อยลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ควรจัดอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ เมล็ดพืช ถั่ว ให้กินเป็นประจำ

    อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง : เนื้อแดง ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว ธัญพืช
  • การขาดแคลเซียม ผู้สูงอายุจะขาดแคลเซียมได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น ๆ เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมออกจากกระดูกมาก ทำให้กระดูกเปราะ เสื่อมและหักได้ง่าย นอกจากนี้การขาดแคลเซียมอาจเกิดจากการได้รับอาหารที่มีแคลเซียมน้อยลง ญาติหรือผู้ดูแลควรเพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมมาก เช่น นม ผักคะน้า ผักขึ้นฉ่าย ดอกแค ถั่วพู ปลาซาดีน ปลาแห้ง กุ้งแห้ง

    อาหารที่มีแคลเซียมสูง : นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว ปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก ผักสีเขียวเข้ม

  • การได้รับกากใยอาหารไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการท้องผูก อึดอัด และเบื่ออาหารในที่สุด นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ได้รับกากใยอาหารไม่พอ อาจทำให้เกิดโรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เบาหวาน นิ่วในถุงน้ำดี ควรจัดหาอาหารที่มีใยอาหาร เช่น ผักใบเขียว และผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ
    อาหารที่มีกากใยสูง : ถั่ว เช่น ถั่งแดง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง
    ธัญพืชไม่ขัดสีทุกชนิด เช่น ข้าวกล้องดอย ผัก ผลไม้
    ผัก เช่น แครอท ข้าวโพด บล็อคโคลี ผักโขม
    ผลไม้ เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล อะโวคาโด ฝรั่ง มะม่วง
  • การขาดน้ำ ปกติร่างกายของคนเราต้องการน้ำประมาณ วันละ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะบ่อยครั้ง บางคนจึงแก้ปัญหาโดยการดื่มน้ำน้อยลง จึงส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลีย เกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และยังเป็นสาเหตุทำให้ท้องผูกอีกด้วย สภาพของร่างกายที่ขาดน้ำ จะพบว่าปัสสาวะมีสีเหลืองจัด มีกลิ่นฉุน มีปริมาณน้อยลง ลมหายใจมีกลิ่นผิดปกติ ปากแห้ง คอแห้ง และไม่ค่อยมีน้ำลาย
  • การได้รับอาหารปริมาณมากเกิน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการอยู่ดีกินดี ทำให้รับประทานอาหารในปริมาณมาก ประกอบกับการใช้พลังงานที่ลดลง ส่งผลให้มีน้ำหนักมากเกินไป หรือเป็นโรคอ้วนได้ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด และเมื่อมีน้ำหนักมากจะทำให้ข้อต่าง ๆ ต้องรับน้ำหนักมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้อสะโพกและข้อเข่า จึงมีโอกาสเกิดอาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อต่าง ๆ และเกิดข้ออักเสบได้อีกด้วย
  • การได้รับอาหารบางชนิดมากเกินไป ส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง ในผู้สูงอายุมักจะมีไขมันตกตะกอนตามผนังของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัว โดยเฉพาะหลอดเลือดที่หัวใจหรือสมอง ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่เพียงพอ ทำให้เกิดหัวใจวายหรือสมองขาดเลือด ถ้าเป็นหลอดเลือดที่ไตจะทำให้ไตทำงานไม่ปกติ เกิดการคั่งของของเสียในร่างกาย และเกิดภาวะไตวายได้
การเลือกและเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ 
การเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุจะช่วยให้เราสามารถจัดอาหาร หรือดูแลให้ผู้สูงอายุให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  โดยมีหลักการทั่วไป ดังนี้
  • เลือกอาหารที่มีในท้องถิ่น ออกตามฤดูกาล เพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารสูง ไม่มีสารเคมีที่ใช้บังคับให้ออกนอกฤดู และควรเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุชอบกิน เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุกินได้มากขึ้น
  •  เลือกอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือกึ่งของเหลว ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องฟัน เพื่อให้กลืนง่าย ไม่ติดคอ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นมถั่วเหลือง เป็นต้น
  • เลือกอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เพื่อให้เคี้ยวและย่อยง่าย เช่น ข้าวหุงนิ่ม ๆ ปลา ไข่ เต้าหู้ ผักต้ม เป็นต้น
  • ดื่มน้ำผลไม้คั้นสด แทนผลไม้สดได้ อาจใช้การปั่นทั้งลูก เพื่อให้ได้ใยอาหาร
  • ควรนำไขมัน หรือเส้นใยที่เหนียวออก ก่อนประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์
  • ควรใช้การฉีก สับ ปั่น บด หั่น อาหารเป็นชิ้นเล็ก เพื่อช่วยให้การเคี้ยวและการกลืนง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก เนื้อสัตว์ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะเหนียว เคี้ยวยาก หรืออาหารที่สามารถติดตามซอกฟันได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อน แห้ง รสเค็ม รสเผ็ด รสเปรี้ยวหรือเป็นกรด เพื่อลดความระคายเคืองหรือความเจ็บปวดในช่องปาก

เขียน/เรียบเรียง :
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ 
ส่วนจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออก. (มปป.)  การดูแลและส่งเสริมคุณภาพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ. ระยอง : สถาบัน กศน.ภาคตะวันออก
วชิราภรณ์ สุมนวงศ์. (มปป.). ปัญหาทางโภชนาการในผู้สูงอายุ. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562, จาก http://www.healthcarethai.com/โภชนาการในผู้สูงอายุ
ณัฏฐ์ฑิพัฒณ์ จุฑาเจริญวงศ์. เด็กขาดวิตามินบี 1 เสี่ยงโรคหัวใจ. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562, จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/วิตามินบี-1_โรคหัวใจ/
เมดิกไทยเว็บไซต์เพื่อสุขภาพ. (2561). อาหารผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562, จาก http://www.medicthai.com/อาหารผู้สูงอายุ-ดีต่อสุขภาพ/
วิตามิน.Com. (มปป). วิตามิน. สืบค้น 28 สิงหาคม 2562, จาก http://วิตามิน.com/category/vitamin/