ปัญหาการกินยาในผู้สูงอายุ

“การกินยา” เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมในด้านสุขภาพและอวัยวะต่าง ๆ โรคภัยไข้เจ็บจึงเริ่มถามหา แต่ความไม่ธรรมดาคือ หลายคนยังมีความเข้าใจผิด หรือมีพฤติกรรมการกินยาที่ไม่ถูกต้อง จึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ จากยาได้ง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามวัย ประสิทธิภาพการเผาผลาญ การย่อย และการดูดซึม ตลอดจนการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป จึงทำให้การออกฤทธิ์ของยาในผู้สูงอายุแตกต่างจากบุคคลในวัยอื่น ทั้งในแง่ของการดูดซึมและการสะสมของตัวยา ปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้สูงอายุนั้นมีโรคประจำตัว และจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต  เพราะฉะนั้นตัวผู้สูงอายุเอง ญาติพี่น้อง หรือคนที่ดูแล จึงไม่ควรมองข้ามและให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ


ปัญหาการกินยาในผู้สูงอายุ
  • การลืมกินยา การลืมกินยาไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุเท่านั้น คนปกติก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อมีอาการไม่สบายใหม่ ๆ ด้วยความที่อยากหาย จึงมุ่งมั่นในการกินยาทุกชนิดที่หมอให้มา แต่เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น ก็มักจะละเลยและลืมกินยากัน เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของผู้สูงอายุทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ต้องกินยาเป็นประจำ และมียาหลายชนิดที่ต้องกินในแต่ละมื้อ ขณะที่ความจำเริ่มลดลง พฤติกรรมลืมกินยาจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย
  • การซื้อยามากินเอง ผู้สูงอายุหลายต่อหลายคนชอบซื้อยามากินเอง จากร้านขายยาใกล้บ้าน สาเหตุอาจเกิดจากความยากจน ไม่อยากไปหาหมอ เนื่องจากกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งไม่มีเวลาเพราะต้องทำมาหากิน บางคนกินยาตามคำแนะนำของคนใกล้ตัวหรือเพื่อนบ้าน หรือตามที่โฆษณาในวิทยุหรือโทรทัศน์ เพราะความที่อยากหายเจ็บป่วยไวๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาชุดและยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับรองมาตรฐาน ยาเหล่านี้จะมีสารสเตียรอยด์ เมื่อกินไประยะแรก ๆ มักจะมีอาการดีขึ้น แต่กลับส่งผลร้ายในระยะยาว ทั้งกระดูกพรุน และความดันโลหิตสูง
  • การกินยาของคนอื่น บางครั้งคนในบ้าน หรือเพื่อนบ้านมีอาการเจ็บป่วยที่คล้าย ๆ กัน ผู้สูงอายุที่ไม่อยากไปหาหมอ มักจะขอยาคนในบ้าน หรือเพื่อนบ้านมาลองกิน ด้วยหวังว่าอาการเจ็บป่วยจะดีขึ้น โดยไม่รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากโรคหรือสาเหตุต่างกัน หรืออาจเกิดจากโรคเดียวกัน แต่ปริมาณยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการใช้ยาเกินขนาด เกิดอาการข้างเคียง หรือการดื้อยาทำให้โรคที่เป็นอยู่ไม่สามารถรักษาให้หายได้


  • การหยุดกินยาหรือปรับขนาดยาเอง บางครั้งด้วยความที่ผู้สูงอายุไม่อยากกินยามาก เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก็มักจะหยุดยาเอง แต่ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ จะต้องกินให้หมดตามที่หมอให้มา มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดการดื้อยาได้ หรือบางคนเชื่อว่า กินยามากแล้วจะหายเร็ว จึงเพิ่มขนาดยาเอง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือ พิษจากยาเป็นหลายโรค กินหลายยา หาหลายหมอ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีโรคประจำตัวหลายโรค ถ้าไปหาหมอที่คลินิก หรือต่างโรงพยาบาล ก็จะมีหมอหลายคน รักษาตามอาการที่เป็น โดยที่ไม่มีหมอช่วยดูภาพรวมให้ว่า ยาทั้งหมดที่ได้รับมาจะมีปฏิกิริยาต่อกันหรือไม่ เพราะหลายครั้ง ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคหนึ่ง อาจไปมีผลแทรกแซงการทำงานของยาที่ใช้รักษาอีกโรคหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง และรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควร ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะรักษาที่สถานพยาบาลเดียวกัน แต่ถ้ารักษาต่างสถานพยาบาล ญาติหรือตัวผู้สูงอายุเองจะต้องบอกหมอว่าตอนนี้เรากินยารักษาโรคอะไรบ้าง เพื่อให้หมอได้มีข้อมูลก่อนการสั่งยาให้
  • การกินยาไม่ตรงเวลา คนไข้หรือผู้สูงอายุ ส่วนมากจะรู้แค่ว่ายาที่หมอสั่ง ต้องกินก่อนหรือหลังอาหารเท่านั้น แต่มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่า การกินยาแต่ละชนิดตามเวลาที่หมอสั่ง จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร หากไม่กินตามเวลาที่กำหนด เช่น ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อน 0.5-1 ชม. เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดี หรือยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหาร 15-30 นาที หรือยาที่กินหลังอาหารทันที เป็นยาที่ระคายเคืองต่อกระเพาะ ถ้ากินในช่วงท้องว่าง อาจเป็นแผลในกระเพาะได้
  • การเก็บรักษายาไม่ถูกต้อง บางครั้งผู้สูงอายุไม่รู้ว่ายาประเภทไหนควรเก็บให้พ้นแสง ยาประเภทไหนควรเก็บที่อุณหภูมิห้องหรือในตู้เย็น หรือไม่ควรแกะยาออกจากห่อฟอยล์ หรือนำออกจากซองสีน้ำตาลหรือขวดยาสีชา มาไว้ข้างนอกเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ ซึ่งการเก็บรักษายาไม่ถูกต้องนี้ เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ไม่ได้ใส่ใจอ่านคำแนะนำที่ซองยา ตัวหนังสือหน้าซองยามีขนาดเล็กจนอ่านไม่ได้ หรือที่ซองยาไม่มีคำแนะนำเรื่องการเก็บรักษายา ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันโรงพยาบาลได้จัดให้มีเภสัชกรคอยให้คำแนะการใช้ยาขณะที่รับยา แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ผู้สูงอายุอาจจำไม่ได้ เพราะฉะนั้นญาติหรือคนดูแลต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ 
เพราะฉะนั้น ญาติหรือผู้ดูแลต้องช่วยกันทำให้ผู้สูงอายุสามารถกินยาได้อย่างถูกต้อง โดย “จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุได้รับยาที่ถูกกับโรค ไม่เสื่อมคุณภาพ ไม่ออกฤทธิ์ตีกัน ไม่ใช้พร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น” และ“ให้ผู้สูงอายุกินยาได้ถูกปริมาณ ถูกเวลา และไม่ลืมกินยา”

เมื่อผู้สูงอายุกินยาได้ถูกต้อง ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ไม่ต้องใช้ยามากเกินความจำเป็น ไม่ต้องกินยาซ้ำซ้อน ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคใหม่ที่มีผลมาจากการใช้ยา ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยา และที่สำคัญที่สุดคือ มีอายุยืนยาวอยู่กับลูกหลานไปได้นาน ๆ


เรียบเรียง :
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ 
ส่วนจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออก. (มปป.)  การดูแลและส่งเสริมคุณภาพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ. ระยอง : สถาบัน กศน.ภาคตะวันออก

Thunyaporn S.. (2560). ผู้สูงวัยกินยา เรื่องธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562, จาก https://blog.goodfactory.co/ผู้สูงวัยกินยา-101ca509b59d