กิจกรรมการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย

ปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการศึกษาผ่านแหล่งเรียนรู้หรือช่องทางที่หลากหลาย โดยสามารถเรียนรู้ร่วมกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งสามารถเลือกที่จะทำกิจกรรมการเรียนรู้นี้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล เพื่อเสริมสร้างให้ ผู้สูงอายุมีความรู้ ทักษะในการดำเนินชีวิต และทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งยังเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ในที่นี่จะกล่าวถึงเฉพาะช่องทางหรือแหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการเรียนรู้จากสถานศึกษาองค์กรหรือหน่วยงาน ดังนี้


การเรียนรู้ด้วยตนเอง 
ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ ผ่านช่องทางและแหล่งเรียนรู้ ได้แก่
  1.  การชมรายการโทรทัศน์ การชมรายการโทรทัศน์ ปัจจุบันมีสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งที่เป็นของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ซึ่งมีการผลิตรายการที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ผู้สูงอายุสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อตนเอง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ เช่น อาหารและโภชนาการ การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย ความรู้เกี่ยวกับโรคในผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพ การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น 
  2. การรับฟังรายการวิทยุ วิทยุเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีราคาถูก สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในชนบทที่อยู่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี ทั้งสัญญาณเสียงระบบ FM และระบบ AM ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแทบทุกกระทรวง นอกจากนี้ ยังมีวิทยุชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีบทบาทหลักในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ จัดรายการวิทยุเพื่อการศึกษาสำหรับบุคคลทั่วไปทุกช่วงวัย ซึ่งผู้สูงอายุสามารถรับฟังและ นำข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 
    • รายการวิทยุเพื่อการศึกษาตามหลักสูตร ได้แก่ รายการสาระ ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา (สวศ.) และ 11 สถานีวิทยุทั่วประเทศ เรียนรู้สังคม 37  
    • รายการวิทยุเพื่อการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป ได้แก่ ด้านภาษา ด้านการศึกษา ด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านสุขภาพจิต ด้านศาสนา ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านบันเทิง ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านสารคดีสั้น  เผยแพร่ออกอากาศ 4 ช่องทาง คือ FM 92 MHz AM 1161 KHz ทางอินเตอร์เน็ต www.moeradiothai.net และรับฟังผ่านดาวเทียมช่อง R31 
    • รายการวิทยุชุมชนเพื่อการศึกษาที่สถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการจัดรายการ โดยสอดแทรกความรู้ ช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนที่ด้อยโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารได้ทั่วถึง  
  3. การอ่าน ทำให้ได้รับความรู้ข่าวสารต่างๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์ สามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม พัฒนาการสร้างสมาธิ ส่งเสริมให้ความจำดีขึ้น ผู้สูงอายุสามารถค้นคว้าข้อมูลความรู้ได้จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือประเภทต่าง ๆ  โดยมีแหล่งที่สามารถเรียนรู้ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชนจังหวัด ห้องสมุดประชาชนอำเภอ ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี รถโมบายเคลื่อนที่ ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษาหาความรู้จากสื่ออื่น ๆ เช่น แผ่นพับ ใบปลิว ป้ายประกาศ โปสเตอร์ ฯลฯ ที่ผลิตและมีการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ

  4. การเรียนรู้จากแห่งเรียนรู้ในชุมชนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  เช่น สวนสมุนไพร อุทยานต่างๆ ศาสนาสถาน การเรียนรู้จากบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาในชุมชน ผู้รู้ บุคคลใกล้ชิด ตลอดจนคนในครอบครัวซึ่งมีการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน เป็นการเรียนรู้แบบ ค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ

การเรียนรู้จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ โดยการจัดบริการด้านการศึกษาและฝึกอบรมสำหรับผู้สูงอายุที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่มากขึ้น และมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ทักษะชีวิตและคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนรู้ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยการจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความสนใจ เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้สูงอายุในการที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ หลักสูตรที่เปิดสอนจะมีความหลากหลายและเปิดกว้างเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจและความเหมาะสม มีทั้งแบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและหลักสูตรที่เปิดให้บริการฟรีสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่
  1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา (ป.6)  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) 
  2. การอบรมหลักสูตรระยะสั้น  ประกอบด้วย 
    • การส่งเสริมการประกอบอาชีพ  เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้า-นางรม  การทำไม้กวาดดอกหญ้า การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาในกระชัง  การทำกระเป๋าจากเส้นพลาสติก  การตีมีด  การประกอบอาหาร  ทำขนม  การแปรรูปอาหาร การทำปุ๋ยจุลินทรีย์ใช้ในการเกษตร การปลูกผักปลอดสารพิษ ศิลปะประดิษฐ์ การจักสาน  การทอผ้า การทำของชำร่วยในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

    • การส่งเสริมสุขภาพ  เช่น การดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โยคะ อาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การฝึกสมาธิ การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
    • นันทนาการ เช่น ดนตรีไทย ดนตรีสากล ร้องเพลง ลีลาศ ศิลปะประดิษฐ์ วาดภาพ โหราศาสตร์ การดูพระเครื่อง การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  กิจกรรมทัศนศึกษาสถานที่สำคัญ ฯลฯ
    • การอบรมความรู้อื่น ๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความรู้พื้นฐานคอมพิวเตอร์การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

เขียน/เรียบเรียง :
พิภพ ทรายคำ ครู กศน.ตำบล กศน.อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา 
อุดร คำบุญเรือง ครู กศน.ตำบล กศน.อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา