Internet of Things (IoT) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง

ความหมายของ Internet of Things

ในทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น สิ่งของที่เราใช้มักเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ เห็นได้จากโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างในบ้านที่มีการพัฒนาให้ฉลาดและอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้มากขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้

Internet of Things (IoT) หรือ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” หมายถึงการที่วัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของต่าง ๆ ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เก็บบันทึกและรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ มนุษย์จึงสามารถสั่งการ ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์จากระยะไกลได้ จากโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วจะทำให้สามารถผสานระบบอินเทอร์เน็ตกับโลกทางกายภาพได้มากขึ้น

IoT มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า M2M ย่อมาจาก Machine to Machine คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออุปกรณ์กับเครื่องมือต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง

แนวคิด Internet of Things
แนวคิดเรื่อง Internet of Things คิดขึ้นโดย เควิน แอชตัน (Kevin Ashton) ซึ่งเป็นบุกเบิกเทคโนโลยีของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ข้อมูลอัตโนมัติที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างระบบมาตรฐานสากลสำหรับ RFID* ที่ในขณะนั้นถือเป็นมาตรฐานโลกสำหรับการจับสัญญาณเซ็นเซอร์ต่าง ๆ (RFID Sensors) และเป็นผู้เริ่มต้นโครงการ Auto-ID Center ซึ่งทำให้ตัวเซ็นเซอร์เหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อกันได้ เควิน แอชตัน ได้ใช้คำว่า Internet of Things ในสไลด์การบรรยายของเขาเป็นครั้งแรก โดยนิยามเอาไว้ตอนนั้นว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดก็ตามที่สามารถสื่อสารกันได้ได้ก็ถือเป็น “internet-like” หรือพูดง่ายๆก็คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สื่อสารแบบเดียวกับกับระบบอินเตอร์เน็ตนั้นเอง โดยคำว่า “Things” ก็คือคำใช้แทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเหล่านั้น และเขายังกล่าวไว้ว่า Internet of Things อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ต และอาจจะมากกว่าที่อินเทอร์เน็ตเคยทำ


ต่อมาในยุคหลังปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โลกมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมาก และมักมีการใช้คำว่า Smart กับสิ่งเหล่านั้น เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) กริดไฟฟ้าอัจริยะ (smart grid) บ้านอัจฉริยะ (smart home) เครือข่ายอัจฉริยะ (smart network) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (smart intelligent transportation) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ จึงมาเป็นแนวคิดที่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นก็ย่อมสามารถสื่อสารกันได้ด้วยเช่นกัน โดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน นั่นแปลว่านอกจาก Smart devices ต่างๆ จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้วมันยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นได้ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คืออุปกณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารพูดคุยกันเองได้

อุปกรณ์ที่เป็น Internet of Things

“Things หรือ สรรพสิ่ง” ในความหมายของ Internet of Things สามารถหมายถึงอุปกรณ์ที่แตกต่างหลากหลาย เช่น อุปกรณ์วัดอัตราหัวใจแบบฝังในร่างกาย แท็กไบโอชิปที่ติดกับปศุสัตว์ ยานยนต์ที่มีเซ็นเซอร์ในตัว อุปกรณ์วิเคราะห์ดีเอ็นเอในสิ่งแวดล้อมหรืออาหาร  อุปกรณ์ภาคสนามที่ช่วยในการทำงานของนักผจญเพลิงในภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ  อุปกรณ์เหล่านี้จะจัดเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีหลากหลายชนิดและจากการส่งต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์อื่น ๆ โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น 
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถือว่าเป็น Internet of Things ชิ้นแรกของโลกก็คือ ตู้ ATM ที่เราใช้กดเงินกัน เพราะมันสามารถเชื่อมต่อสื่อสารหากันได้ผ่านเครือข่ายของธนาคารและสาขาต่าง ๆ ซึ่ง ATM นั้นถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1974 ก่อนที่จะมีการนิยามคำว่า Internet of Things
  • เครื่องซักผ้า-อบผ้าที่ต่อกับเครือข่ายไวไฟ เพื่อให้สามารถดูสถานะจากระยะไกลได้ 
  • เครื่องควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ (Smart thermostat) จะปรับค่าต่าง ๆ เองได้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยดูจากพฤติกรรมของผู้ใช้ อาศัยข้อมูลจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีไร้สาย และโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ทำให้ปรับตั้งอุณหภูมิได้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น สามารถเปิดปิดระบบปรับอากาศเมื่อต้องการใช้โดยอัตโนมัติ เช่น สามารถรู้ว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านจากตำแหน่ง GPS ที่ส่งมาจากมือถือของเจ้าของบ้าน เทอร์โมสตัทก็จะตัดการทำงานเครื่องปรับอากาศ และในทางกลับกัน เมื่อเจ้าของบ้านกลับมาใกล้บ้านก็จะเริ่มเปิดแอร์ปรับอุณหภูมิลงให้พอเหมาะเมื่อเจ้าของบ้านถึงบ้านพอดี และเทอร์โมสตัทบางรุ่น มี Sensor ในตัว สามารถรู้ได้ว่ามีคนอยู่ในห้องหรือไม่ ถ้าห้องไหนไม่มีคนก็จะปรับอุณหภูมิห้องให้สูงขึ้น ห้องไหนมีคนใช้งานก็จะปรับอุณหภูมิให้พอดี เหมาะกับบ้านหรือสำนักงานที่มีหลายห้องแต่ไม่ได้มีประตูกั้นแยกห้อง และไม่ได้ใช้งานพร้อมกัน
  • กล้องวงจรปิดหรือ CCTV อัจฉริยะ ปัจจุบันกล้อง CCTV ราคาถูกลงมาก กล้องช่วยตรวจจับความผิดปกติทั้งในบ้านหรือในเมืองต่าง ช่วยป้องกันภัยคุกคามได้ จึงเป็นที่นิยมในบ้านอยู่อาศัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย โดยการเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi หรือบางรุ่นสามารถใส่ซิมเข้าไปในเครื่องได้เลย และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพและเสียงจากมือถือได้ รวมถึงสามารถเก็บภาพคลิปต่าง ๆ ไปสำรองข้อมูลไว้ที่ระบบ Cloud 
  • นาฬิกาอัจฉริยะ นอกจากใช้ดูเวลาแล้วยังถ่ายรูป บันทึกวิดีโอ รับ-ส่งอีเมล จับเวลา นับก้าวเดิน คำนวณระยะและพลังงานที่ร่างกายใช้นอกจากนี้ยังใช้เป็นรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี Internet of Things นี้ไม่ได้เป็นเพียงส่วนขยายของอินเทอร์เน็ต ที่เรารู้จักกันอยู่เท่านั้น แต่จะเกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของตนได้โดยพึ่งพาอยู่กับอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเกิดประโยชน์จะเป็นในรูปแบบพึ่งพากับบริการ หรือธุรกิจใหม่ และจะสามารถครอบคลุมการสื่อสารในหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสู่เครื่อง เครื่องสู่คนเป็นต้น

* หมายเหตุ
RFID (Radio Frequency Indentification) เป็นระบบที่ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานที่ระบบฉลากแบบบาร์โค๊ดไม่สามารถใช้การได้ โดยจุดเด่นของ RFID คือ ความสามารถในการอ่านข้อมูลของฉลากได้โดยที่ไม่ต้องมีการสัมผัส สามารถอ่านค่าได้แม่นยำแม้ในสภาพที่ทัศนวิสัยไม่ดี ทนต่อความเปียกชื่น แรงสั่นสะเทือน การกระทบกระแทก และสามารถอ่านข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง

ปัจจุบันมีการนำ RFID มาใช้งานกันในงานหลายงาน ไม่ว่าจะเป็นในบัตรชนิดต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตร ATM บัตรเข้าออกสำนักงาน หรือ ในอาคารที่พัก บัตรจอดรถ ฉลากของสินค้า หรือ แม้แต่ใช้ฝั่ง RFID ลงในตัวสัตว์เพื่อบันทึกประวัติ เป็นต้น



เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ


อ้างอิง :
เว็บไซต์ veedvil.com. (2559). ทำความเข้าใจเรื่อง Internet of Things (IoT) เทรนด์ที่หลายคนกำลังพูดถึง. สืบค้นจาก http://www.veedvil.com/news/internet-of-things-iot/

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2559). NTERNET OF THINGS (IOT): เมื่อทุกสิ่งอิงกับอินเทอร์เน็ต. สืบค้นจาก http://oho.ipst.ac.th/internet-of-things/

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน). (2558). INTERNET OF THINGS…เติมสมองให้อุปกรณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต. สืบค้นจาก http://www.catdatacom.com/th/site/news/news_detail/182
Smart Identify. RFID คืออะไร. สืบค้นจาก 
http://www.smartiden.com /index.php?lay=show&ac=article&Id=539310565&Ntype=12