การใช้อินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้งให้ปลอดภัย ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้งานอินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้งผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้เท่านั้น ทางที่ดีควรใช้ผ่านอุปกรณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน หลีกเลี่ยงการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์สาธารณะ เช่นในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่โดยเด็ดขาด เพราะอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของส่วนตัวอาจมีการลงโปรแกรมที่สามารถเข้าถึงและดึงข้อมูลส่วนบุคคลไปได้
- ไม่ใช้งานอินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้ง ผ่าน Wi-Fi สาธารณะ เช่น ตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือห้างสรรพสินค้าที่มีบริการ Wi-Fi ฟรี เนื่องจากมีความเสี่ยงถูกแฮกเกอร์ดักถอดรหัส โดยใช้วิธีเปิด Access Point ปลอม เพื่อหลอกให้เข้าไปใช้ Wi-Fi ฟรี เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัญชีเงินฝาก และรหัสเข้าใช้งานในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ดังนั้น หากต้องการใช้งานนอกบ้าน ควรใช้งานผ่านซิมการ์ดของโทรศัทพ์มือถือของตนเองเท่านั้นจะปลอดภัยกว่า
- เมื่อต้องการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยเข้าทาง Web Browser ควรพิมพ์ที่อยู่ (URL) ของเว็บไซต์ธนาคารลงในช่อง Address bar โดยตรงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการคลิกลิงค์ที่เสิร์ชจาก Google เพราะอาจเผลอคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมที่มีการสร้างชื่อเว็บไซต์เลียนแบบให้ใกล้เคียงกับเว็บธนาคาร เช่น เปลี่ยนนามสกุลของเว็บ จาก .com เป็น .co หรือสะกดชื่อใกล้เคียงกับเว็บไซต์จริง หากไม่ได้ตรวจสอบให้ดี ก็อาจคลิกเข้าเว็บไซต์ผิดจนถูกหลอกเอาข้อมูลไปใช้ได้ หากใช้งานเป็นประจำควรบันทึกเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกต้องไว้เป็นบุ๊คมาร์คในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
- เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ธนาคารแล้ว เพื่อความมั่นใจว่าได้เข้าสู่เว็บไซต์ของธนาคารที่ถูกต้อง ให้ตรวจสอบในช่อง Adress Bar ก่อนว่า URL จะต้องนำหน้าด้วย https:// พร้อมกับมีไอคอนรูปแม่กุญแจเสมอ ตัวอักษร “s” ต่อท้าย http หมายถึง security หรือเว็บที่ปลอดภัย โดยตัว s เป็นเครื่องหมายยืนยันว่ามีการเข้ารหัส และติดต่อกับ Server ของธนาคารจริง
ข้อสังเกตการเข้าเว็บไซต์ที่ถูกต้อง ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงไทย
- ตั้งรหัสผ่านการเข้าใช้งานเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งให้ปลอดภัย รหัสผ่านที่ดีควรประกอบด้วย ตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรเล็ก ตัวเลขผสมกัน และมีความยาวอย่างน้อย 6 ตัวอักษรขึ้นไป ไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่เดาง่ายอย่างเช่น “12345678”, “password” วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัทพ์ ตัวเลขหรืออักษรเรียงกัน และควรเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง เช่น รหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) รหัสผ่าน (Password) หมายเลขบัตรและรหัสเอทีเอ็ม (ATM PIN) รหัสบัตรเครดิต หมายเลขบัญชี หรือข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางอีเมล์หรือสื่อโซเซียลใด ๆ
- ควรสมัครใช้งานบริการแจ้งเตือนด้วย SMS ทางโทรศัทพ์มือถือ เมื่อมีเงินเข้าหรือออกไว้ด้วย เพราะหากมีความเคลื่อนไหวบัญชีที่ผิดสังเกต จะได้ทราบทันท่วงที ซึ่งการสมัครแจ้งเตือนผ่าน SMS อาจมีค่าธรรมเนียมบริการแจ้งเตือน SMS ของธนาคาร อยู่ประมาณ 10-20 บาท/เดือน/บัญชี
- หากธนาคารมีบริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวบัญชีผ่าน e-mail ควรสมัครใช้ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะข้อมูลที่แจ้งเตือนผ่าน e-mail จะมีรายละเอียดมากกว่าการแจ้งเตือนทาง SMS ทำให้ทราบว่าเงินถูกโอนออกไปยังบัญชีชื่อใคร เมื่อไหร่ หรือเลขที่รายการอะไร เป็นต้น
- หลังจาก login เพื่อใช้งาน Internet Banking แล้ว ไม่ควรบันทึกรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเข้าสู่ระบบแบบอัตโนมัติไว้บนเบราเซอร์ และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วต้องคลิกออกจากระบบหรือ Log Out ทุกครั้ง ไม่ว่าจะใช้ผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัทพ์มือถือ และควรล็อกโทรศัทพ์มือถือทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานและไม่ทำธุรกรรมในที่ที่ผู้อื่นมองเห็นหน้าจอได้ง่าย เพื่อป้องกันการถูกขโมยข้อมูล
- ติดตั้งโปรแกรม Antivirus หรือ Spyware ไว้ในเครื่อง เป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ เพราะโปรแกรมเหล่านี้จะตรวจค้นหาสิ่งผิดปกติในเครื่อง และควรทำการอัพเดตเวอร์ชั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไวรัส หรือมัลแวร์ใหม่ๆ ที่โจมตีด้วย
- อย่าหลงเชื่อและตอบกลับอีเมล์ หรือ SMS หลอกลวง ที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการปรับปรุงข้อมูลหรือยืนยันความถูกต้อง หากได้รับอีเมล์หรือ SMS ที่มีข้อความประเภท “รีบ Log-in ใช้บัญชีของคุณด่วน มิเช่นนั้นบัญชีจะถูกยึด หรือถูกระงับ” พร้อมทั้งส่ง “ลิงก์” มาให้คลิกเข้าไปลงชื่อใช้ ห้ามหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะทุกธนาคารไม่มีนโยบายแจ้งเตือนแล้วให้ลูกค้าเข้าเว็บไซต์ด้วยการคลิกลิงค์ในอีเมล์ บน SMS หรือลิงค์บนเว็บบอร์ดใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากได้รับอีเมล์ หรือ SMS ลักษณะดังกล่าว ห้ามคลิกลิงก์ใด ๆ และลบทิ้งได้เลย และควรแจ้งไปยังธนาคารผู้ให้บริการทราบด้วย เพื่อที่การปลอมแปลงอีเมล์และ SMS หลอกลวงจะได้ถูกดำเนินตามกฎหมาย
- โหลดแอปพลิเคชั่น Mobile Banking จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น สำหรับระบบปฏิบัติการ Android โหลดผ่าน Google Play และสำหรับสำหรับระบบปฏิบัติการ iOS โหลดผ่าน App Store เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และก่อนโหลดแอปพลิเคชั่น ควรสังเกตชื่อของผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นว่าเป็นของธนาคารจริง
- ในการทำธุรกรรมผ่าน Internet/Mobile Banking ควรตรจสอบความถูกต้องของข้อมูลทุกครั้งว่า โอนเงินให้ใคร จ่ายบิลไหน จำนวนเงินเท่าใด ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนทัชหรือคลิกทุกครั้ง
- หากเกิดข้อผิดพลาดจากการใช้บริการการเงินผ่านระบบออนไลน์ หรือพบเห็นอะไรผิดปกติ รีบโทรแจ้ง Call Center ของธนาคารทันที อย่างน้อยถ้าเกิดการโจรกรรมขึ้นมาจริงๆ ก็อาจอายัติบัญชีไว้ได้ทัน
- หากยังรู้สึกไม่มั่นใจและไม่ปลอดภัย ควรแยกบัญชีที่ใช้กับ Internet/Mobile Banking ที่เราใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์บ่อยๆ ไว้ต่างหากอีกบัญชี ใส่เงินไว้พอสมควรอย่ามากเกินไป บัญชีนี้เอาไว้ใช้อำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายเท่านั้น และอีกบัญชีควรเป็นบัญชีออมทรัพย์ปกติที่เอาไว้เก็บเงินฝากจำนวนมาก ที่ใช้วิธีถอนหรือโอนเงินโดยการใช้สมุดบัญชีและการเซ็นชื่อถอนเงินตามปกติ อย่างน้อยหากเกิดการโจรกรรมทาง Internet Banking ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้ไม่สูญเสียเงินจำนวนมาก
เขียน/เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน). (2561). 10 ความปลอดภัยที่ผู้ใช้ Internet Banking ต้องรู้. สืบค้นจาก https://www.mebytmb.com/blog/view/security-internet-banking.html
เว็บไซต์ไอที 24 ชั่วโมง. (2561) ใช้งาน internet banking และ mobile banking อย่างไรให้ปลอดภัย. สืบค้นจาก https://www.it24hrs.com/2014/mobile-banking-safety/
ธนาคารกสิกรไทย. (2561). การใช้งาน Digital Banking อย่างไรให้ปลอดภัย. สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/security-tips/Pages/index.aspx